หมูเด้งๆๆๆ จากฮิปโปแคระสู่เซเลบโลกโซเชียล ! 
ทำไม “#หมูเด้ง”
ถึงครองใจคนทุกวัยทั้งในและต่างประเทศได้ในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์?
มาวิเคราะห์กลยุทธ์ที่ทำให้เจ้าเบบี้ฮิปโปกลมปุ๊กลุกขึ้นเป็นตัวแม่แห่งไวรัล! อยากรู้เคล็ดลับความสำเร็จที่เจ๋งกว่าใคร ตามมาดูได้เลย!”
การปรากฏตัวของ “#หมูเด้ง”
ฮิปโปแคระจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ได้สร้างปรากฏการณ์ไวรัลในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ การที่หมูเด้งสามารถกลายเป็น “#เซเลบ”
ของวงการสัตว์ได้ในช่วงเวลาสั้นๆแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสม รวมถึงการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ บทความนี้จะนำเสนอการวิเคราะห์ความสำเร็จของ “#หมูเด้ง”
โดยใช้ทฤษฎีการตลาดและแนวคิดทางการจัดการแบรนด์ เพื่อให้เห็นถึงปัจจัยที่ทำให้หมูเด้งกลายเป็นตัวอย่างของการทำการตลาดที่ประสบความสำเร็จ




หนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้หมูเด้งเป็นที่จดจำ และได้รับความสนใจจากผู้คนมากมาย คือการสร้างแบรนด์ผ่านการใช้ชื่อที่แตกต่าง และน่าจดจำ
ชื่อ “#หมูเด้ง”
นั้นมีความน่าสนใจเพราะมีความขัดแย้งในตัว เนื่องจากหมูเด้งไม่ใช่ชื่อที่ผู้คนจะคาดหวังว่าจะเป็นชื่อของฮิปโปแคระได้ ความแตกต่างนี้จึงสร้างความน่าสนใจให้กับแบรนด์หมูเด้ง โดยกว่าจะมาเป็นชื่อนี้ สวนสัตว์เปิดเขาเขียวได้ใช้วิธีการเปิดโหวตชื่อเพื่อสร้างความมีส่วนร่วม (Engagement) กับประชาชน ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมในการกำหนดตัวตนของน้องหมูเด้ง ซึ่งเป็นการสร้างจุดเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์กับผู้ชมตั้งแต่เริ่มต้น ส่งผลต่อความผูกพันกับแบรนด์ในระยะยาว (Brand Loyalty)


การเล่าเรื่องราวของหมูเด้งและครอบครัวฮิปโปแคระผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ตัวอย่างเช่น เพจ “ขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง” ที่ไม่เพียงแค่บอกข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์เท่านั้น แต่ยังถ่ายทอดลักษณะนิสัย ความน่ารัก และพฤติกรรมที่ซุกซนของหมูเด้งในลักษณะที่ตรงใจผู้ติดตาม การโพสต์คลิป และภาพถ่ายในช่วงเวลาต่างๆที่มีการโต้ตอบหยอกล้อเล่นกับผู้ดูแล ไม่ว่าจะเป็นการงับขาพี่เลี้ยงหรือท่าทางดุ๊กดิ๊กน่ารัก ทำให้เรื่องราวของหมูเด้งกลายเป็นไวรัลได้อย่างรวดเร็ว เพราะผู้ชมรู้สึกได้ถึง “ความจริงใจ” และ “ความเป็นธรรมชาติ” ของตัวละครในเรื่องราวนี้ สร้างความรู้สึกเชิงบวกกับแบรนด์ได้ทันที

ความสำเร็จของหมูเด้งไม่ได้เกิดจากการใช้ชื่อเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลมาจากการสร้างประสบการณ์ที่มีความหมาย (Meaningful Experience) กับผู้ชมในสื่อสังคมออนไลน์ การที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียวเลือกใช้วิธีการถ่ายทอดสด (Live Streaming) หรือการโพสต์คลิปวิดีโอในช่วงเวลาสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศชื่อที่ได้รับเลือก การอัปเดตพฤติกรรมประจำวัน และการตอบโต้ความคิดเห็นของผู้ชม ทำให้เกิดการโต้ตอบแบบสองทาง (Two-Way Communication) ผู้ชมสามารถแสดงความคิดเห็นและมีปฏิสัมพันธ์กับสวนสัตว์ได้อย่างใกล้ชิด ส่งผลให้เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วม และเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์เชิงบวกกับแบรนด์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำการตลาดยุคใหม่ที่ผู้บริโภคต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของแบรนด์ที่ตนเองชื่นชอบด้วย

เมื่อสวนสัตว์เปิดเขาเขียวเริ่มโพสต์วิดีโอและภาพถ่ายของหมูเด้ง พฤติกรรมน่ารัก ขี้เล่น และขี้วีนของหมูเด้งทำให้เกิดการแชร์เนื้อหาไปอย่างรวดเร็วบนแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, และ Twitter คลิปวิดีโอหลายคลิปของหมูเด้งได้รับยอดการชมและการแชร์สูงมาก จนกลายเป็นไวรัล การตลาดผ่านการสร้างไวรัลนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากโชคหรือความบังเอิญ แต่เกิดจากการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และการสร้างเนื้อหาที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ สวนสัตว์ยังใช้วิธีการตอบโต้แฟนคลับด้วยการลงรูปหรือคลิปเสริมเมื่อมีคอมเมนต์แสดงความต้องการเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการสนทนาอย่างต่อเนื่อง (Buzz Marketing) และสร้างการรับรู้ในวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ





อาจารย์ประจำ คณะบริหารธุรกิจ
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์


Instagram : https://www.instagram.com/allretailbypim.ig/
Twitter : https://twitter.com/allretail_PIM?s=09
Blockdit : https://www.blockdit.com/allretailbypim